ปวดหัวแบบไหน ใช่ไมเกรนหรือเปล่า

Last updated: 10 ม.ค. 2561  |  1663 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดหัวแบบไหน ใช่ไมเกรนหรือเปล่า

1. ไมเกรนที่เห็นแสงวูบวาบ (migraine with aura) โดยผู้ป่วยจะเห็นแสงวูบวาบ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่เริ่มปวดศีรษะ

2. ไมเกรนที่ไม่เห็นแสงวูบวาบ (migraine without aura) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะโดยไม่มีสัญญาณเตือน

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเห็นแสงวูบวาบ แต่ไม่มีอาการปวดศีรษะตามมาก็ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดหัวไมเกรนหลายครั้งต่อสัปดาห์ หรือบางคนอาจเป็นไมเกรนเพียงครั้งคราวก็ได้

สาเหตุของไมเกรน
แม้ว่าสาเหตุของโรคไมเกรนอาจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสมองโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไตรเจอมินอล (trigeminal nerve) นอกจากนี้ยังพบว่าโรคไมเกรนอาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นที่มาจากทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น อากาศร้อน การเห็นแสงจ้า ความเครียด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง

อาการปวดหัวไมเกรน
สำหรับอาการของโรคไมเกรนนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายมักจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเราสามารถแบ่งช่วงของอาการปวดหัวไมเกรนได้หลัก ๆ 4 ช่วง ดังนี้

ระยะก่อนปวดศีรษะ (prodrome) ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมและความอยากอาหาร โดยอาการก่อนปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้หลายชั่วโมงหรือหลายวันก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดศีรษะ
ระยะเห็นแสงวูบวาบ (aura) ผู้ป่วยบางรายอาจพบความผิดปกติของการมองเห็น เช่น เห็นแสงกะพริบหรือมีจุดบอดในขณะมองภาพ ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 5 นาทีจนถึง 1 ชั่วโมง
ระยะปวดศีรษะ (headache) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีอาการปวดแบบตุ๊บ ๆ ตามจังหวะหัวใจเต้น โดยมักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และผู้ป่วยบางรายอาจมีความไวต่อแสงหรือเสียงดัง ซึ่งอาการปวดศีรษะอาจยาวนาน 4 ถึง 72 ชั่วโมง
ระยะหายปวด (resolution) โดยอาการปวดศีรษะและอาการอื่น ๆ จะค่อย ๆ ลดลง โดยในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกินระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากหายปวดศีรษะ
การรักษาและการป้องกัน
โรคไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถลดความถี่หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ สำหรับการรักษาด้วยการใช้ยา มียาหลากหลายชนิดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับโรคไมเกรน เราสามารถแบ่งยาออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ ซึ่งสามารถใช้รักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน จะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการในช่วงอาการปวดศีรษะไมเกรนเท่านั้น เช่น ยาในกลุ่มทริพแทน (triptans) และเออร์กอทอัลคาลอยด์ (ergot alkaloids) รวมถึงยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

ยาสำหรับใช้ป้องกัน ยาประเภทนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงหรือความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนได้ ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาโพพาโนลอล (propranolol)

นอกจากการใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยสามารถลดความถี่ของโรคไมเกรนได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ โดยเฉพาะแสงแดดจ้า เสียงดัง รวมถึงอาหารบางชนิด

โรคไมเกรนเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยอาการของโรคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะเพียงด้านเดียว อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งการรักษาไมเกรนนั้นสามารถรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาแก้ปวดแบบเฉียบพลัน และยาที่ช่วยป้องกันและลดความถี่ของโรค

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้