ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น

Last updated: 16 เม.ย 2561  |  11303 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น

ความแตกต่างของโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท กับ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)

- เกิดอาการปวดลึกๆที่แก้มก้น หรือก้นย้อยเท่านั้น มักจะคลำหาจุดกดเจ็บได้ยาก รู้สึกแค่ว่าปวดที่ก้นลึกๆ
- เมื่อปวดมากขึ้นอาจมีอาการปวดก้น และร้าวลงต้นขาด้านหลัง หน้าแข้ง บางรายอาจมีอาการปวดที่ข้อเท้าร่วมด้วย
- อาการปวดเพิ่มมากขึ้น เมื่อนั่งนานๆ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพขับรถ
- อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อลุกขึ้นยืน เดิน (แต่ในบางรายที่ปวดเรื้อรังอาจจะปวดตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่งหรือยืน)
- บางรายมีอาการชาที่ขาร่วมด้วย และจะชามากขึ้นเมื่อนั่งเป็นเวลานาน จนทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมายืนก็มี
- พบจุดกดเจ็บที่ก้น และเมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่จุดกดเจ็บนั้น จะรู้สึกปวดร้าวชาร้าวลงไปของขาข้างนั้นๆ

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

- มีอาการชาร้าวลงขา (อาการคล้ายกับ piriformis syndrome นะครับ)
- พบจุดกดเจ็บกระดูกสันหลังของข้อที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และในรายที่เป็นมากจะมีอาการปวดแปล๊บทั่วไปทั้งแผ่นหลัง แม้เพียงแตะเล็กน้อยก็จะเจ็บมากจนต้องร้องโอดโอย (ในโรค piriformis syndrome จะปวดลึกๆที่ก้นเท่านั้น ไม่มีอาการปวดหลังใดๆ)
- ไอ จามจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น (โรค piriformis syndrome ต่อให้ไอทั้งวันก็ไม่ทำให้อาการปวดเพิ่มขึ้น)
- เมื่อนั่งจะรู้สึกสบาย อาการปวดแปล๊บและชาลดลง แต่เมื่อยืนเดินอาการปวดแปล๊บและชาจะเพิ่มมากขึ้น ในผู้ป่วยบางรายเดินเพียง 5 นาทีก็ต้องนั่งแล้วเพราะทนอาการชาไม่ไหว (ผู้ที่เป็นโรค piriformis syndrome อาการปวดจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเมื่อนั่งนาน และรู้สึกปวดลึกๆหน่วงๆไม่ใช่อาการปวดแปล๊บเหมือนไฟช็อต)
- กล้ามเนื้อหลังตึงเกร็งจนสังเกตุเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะเดินหลังแข็งเหมือนหุ่นยนต์ก็ไม่ปาน (ในโรค piriformis syndrome ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะเดินขากระเพกเหมือนคนขาเจ็บ แต่ในรายที่ปวดไม่มากนั้นเดินเหมือนคนปกติทั่วไป)
- ในรายที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา จะพบว่ากล้ามเนื้อขาข้างที่ชานั้นมีการฝ่อลีบเมื่อเทียบกับข้างปกติ (การฝ่อลีบของกล้ามเนื้อก็เกิดขึ้นได้เช่นกันในผู้ป่วย piriformis syndrome)
- เมื่อแอ่นหลังผู้ป่วยจะปวดและชามากขึ้น แต่เมื่อก้มหลังอาการจะทะเลาลง (จะแอ่นจนหลังหัก หรือก้มหลังจนมองลอดหว่างขาก็ไม่สามาารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้ในโรค piriformis syndrome)

การรักษาด้วยตนเองอย่างง่ายๆ เมื่อมีอาการ

วิธีที่บรรเทาอาการที่ทำได้ง่ายที่สุดนะครับ คือการยืดกล้ามเนื้อ piriformis muscle ในรายที่อาการยังไม่รุนแรงเมื่อยืดครบ 5 เซ็ตอาการปวดจะลดลงจนรู้สึกได้เลยครับ


1) นั่งเก้าอี้ แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามภาพ ถ้ายังไม่รู้สึกตึงให้ก้มตัวลงไปเรื่อยๆจนรู้สึกตึง จากนั้นให้ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต

2) นอนหงาย แล้วยกขาข้างที่ปวดพาดมาไว้อีกข้างตามภาพ จนรู้สึกตึงที่ก้นโดยหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างแนบกับพื้น บิดแค่ขามาอย่างเดียวนะครับ ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต


3) นอนหงาย ไขว้ขวาข้างที่ปวดขึ้นเหมือนภาพที่ 1 แต่เปลี่ยนเป็นท่านอน จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับใต้เข่าของขาข้างที่ไม่ปวดแล้วดึงขาให้ชิดอกจนรู้สึกตึงที่ก้น โดยไม่ยกศีรษะหรือหัวไหล่ขึ้นมาเพราะกล้ามเนื้อจะเกร็งและการยืดกล้ามเนื้อจะไม่มีประสิทธิภาพ และอาจทำให้เกิดอาการปวดเกร็งหน้าท้องร่วมด้วยได้ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต


4) ท่านี้สามารถยืดได้ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ซึ่งถ้าใครไม่เคยยืดท่าที่ 3 มาก่อน อาจจะยืดท่านี้ยากสักนิดนะครับ โดยยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามภาพเลยครับ ถ้ายังไม่รู้สึกตึงที่ก้น ให้ก้มตัวลงจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต

ซึ่งท่ายืดกล้ามเนื้อทั้ง 4 นั้น เราไม่จำเป็นต้องยืดครบทั้ง 4 ท่าก็ได้ เลือกเอาท่าที่เราถนัดที่สุดดีกว่านะครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้