Last updated: 4 ก.พ. 2561 | 770 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคข้อเข่าเสื่อม
ปัญหาโรคกระดูกและข้อที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บยังพบอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสึกหรอของข้อต่อต่างๆ ของร่างกายภายหลังการใช้งานมานาน ภาวะข้อเสื่อมตามสภาพร่างกายนั้นจึงเกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โรคข้อเสื่อมจึงเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมเนื่องจากเป็นข้อที่รับน้ำหนักและใช้งานมาก การรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่ามีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตนเอง ลดอาการปวด ลดอาการแทรกซ้อน ชะลอการเสื่อมของข้อ ป้องกันความพิการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อาการสำคัญ
1.อาการข้อเข่าฝืด ตึง โดยเฉพาะในช่วงตื่นนอน หรือพักการใช้งานขอข้อเข่านานๆ
2.อาการปวดเข่า มีลักษณะปวดตื้อๆ ทั่วๆ ไปบริเวณข้อและมักปวดแบบเรื้อรัง อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน เช่น นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ และจะทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน
3.มีเสียงในข้อเข่า เมื่อเวลาขยับเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวข้อที่ไม่เรียบขรุขระ ซึ่งเป็นผลของการมีเศษกระดูก และอาจเกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนในข้อที่พลิกไปมา
4.เวลาขึ้น-ลงบันได จะมีอาการเจ็บเสียวที่ข้อเข่า
5.การเปลี่ยนรูปร่างขอข้อเข่า ในรายที่เป็นมากจะมีการชำรุดของบริเวณเข่าด้านในมากกว่าด้านนอก จนทำให้กระดูกชิดชนกัน ร่วมกับกระดูกงอกที่เกิดขึ้น การเกิดกระดูกงอกที่เป็นมาก อาจจะคลำได้กดเจ็บ และก่อให้เกิดการโค้งงอขอข้อเข่า
มีวิธีการรักษาอย่างไร และสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้โดยจุดมุ่ง หมายในการรักษาคือ ช่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้หน้าที่การใช้งานของข้อกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้ เคียงปกติมากที่สุด และป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปของข้อ วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค การใช้งานที่คาดหวังและความพร้อมของผู้ให้การรักษา
การรักษามีแนวทางหลัก 2 วิธีได้แก่ การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
1. การปรับเปลี่ยนการใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้แก่
• การพักหรือใช้งานข้อให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน
• หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า เช่น คุกเข่า พับเพียบ ยองๆ ขัดสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ต่ำ
• หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นควรเดินช้าๆและขึ้นลงทีละขั้น
• หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งท่าเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนท่าหรือขยับข้อเข่าอยู่เรื่อยๆ
• นั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือใช้เก้าอี้ที่มีรูตรงกลางวางไว้เหนือคอห่านแทนการนั่งยองๆ ควรทำราวจับบริเวณโถนั่งเพื่อใช้ช่วยพยุงตัวเวลาจะนั่งหรือยืน
2. ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง
3. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน จะช่วยลดแรงที่เกิดกับข้อได้
4. ที่นอนควรมีความสูงระดับเข่า ไม่ควรนอนบนพื้นเพราะจะปวดมากเวลาจะนอนหรือลุกขึ้น
5. การประคบอุ่นบริเวณข้อเข่า ช่วยลดอาการปวดและกล้ามเนื้อเกร็งได้
6. การสวมสนับเข่า ในกรณีที่ข้อเข่าเสียความมั่นคง จะช่วยกระชับข้อและลดอาการปวด
7. การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อ การเพิ่มหรือคงไว้ซึ่งพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ และการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย
8. การใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ไก้แก่
• ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
• ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
• ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกในข้อเสื่อมระยะเริ่มต้น
• ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
• การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
• การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น
การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
มีข้อบ่งชี้คือ ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วให้ผลการรักษาล้มเหลว โดยผู้ป่วยยังมีอาการที่รุนแรงอยู่จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้
17 ม.ค. 2567